วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเข้าถึงสารสนเทศ

1. การเข้าถึงสารสนเทศ
การเข้าถึงสารสนเทศ ในปัจจุบันจะเห็นว่า internet เป็นแหล่งที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเรื่องความน่าเชื่อถือ ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆในการเข้าถึงได้อีก คือ การเข้าถึงสารสนเทศ (Information access) ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ใช้สามารถค้นและได้รับสารสนเทศที่ต้องการ โดยเครื่องมือช่วยค้นต่างๆ โดยจำแนกเป็น การเข้าถึงสารสนเทศจากทรัพยากรสารสนเทศของสถาบัน และทรัพยากรสารสนเทศจากอินเตอร์เน็ต (พยอม ยุวสุต 2550)

2. การสืบค้นสารสนเทศ หมายถึง วิธีการที่บุคคลพยายามค้นหาให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ต้องการ โดยใช้เครื่องมือสืบค้นด้วยมือ หรือเทคโนโลยี ขึ้นกับกลยุทธ์และเทคนิค การสืบค้นที่ใช้ ทักษะในการใช้เครื่องมือสืบค้นต่างๆ รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของสารสนเทศที่ได้จากการสืบค้น อันจะนำผู้สืบค้นให้เข้าถึงแหล่งที่จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศและทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามความต้องการ

เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศ หมายถึง เครื่องมือและรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ในการสืบค้นรายการสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วทันความต้องการโดยทั่วไปเครื่องมือสืบค้นสารสนเทศจะให้รายละเอียด เพื่อการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศ ดังนี้


• ข้อมูลบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์เช่น ชื่อผู้เขียน ชื่อหนังสือ หรือชื่อบทความ ครั้งที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีพิมพ์ จำนวนหน้า เป็นต้น
• ข้อมูลดรรชนีและสาระสังเขปบทความในวารสารและหนังสือพิมพ์ เช่น ชื่อผู้เขียนบทความ ชื่อบทความ ชื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ หน้าที่ตีพิมพ์ เป็นต้น และบางเครื่องมือให้ข้อมูลเนื้อหาย่อด้วย (สาระสังเขป)
• ข้อมูลเนื้อหาฉบับเต็ม(Full Text) ข้อมูลเนื้อหาฉบับเต็มโดยทั่วไปมักเป็นการสืบค้นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ นักศึกษาจะได้ข้อมูลที่มีลักษณะเนื้อหาฉบับเต็มคือมีเนื้อหาของบทความที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที รวมถึงข้อมูลบรรณานุกรมของบทความวารสาร ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Willson OmmiFile : Full Text Select
ข้อมูลสื่อประสม (Multimedia) เป็นข้อมูลที่ประกอบด้วยข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ข้อมูลในลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นสารานุกรมออนไลน์ หรือเป็นข้อมูลที่อยู่ในแผ่นซีดีรอม ตัวอย่างข้อมูลสื่อประสมจากฐานข้อมูลสารานุกรมออนไลน์ชื่อ Grolier Multimedia Encyclopedia

ประเภทของเครื่องมือสืบค้น

ประเภทของเครื่องมือสืบค้น
ครื่องมือค้นสารสนเทศจำแนกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆดังนี้

2.1 เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศด้วยมือ หมายถึง เครื่องมือสืบค้นที่บันทึกรายละเอียดของรายการสารสนเทศไว้ในรูปแบบที่ผู้ใช้ต้องสืบค้นด้วยมือ ส่วนใหญ่มักบันทึกในรูปแบบสิ่งตีพิมพ์ เช่น บัตรรายการ (Card catalog) หรือมีลักษณะเป็นเล่ม (Book catalog)  บัตรรายการ (Catalog card) หมายถึง บัตรที่แจ้งรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังสือ สิ่งพิมพ์อื่นๆ ตลอดจนโสตทัศนวัสดุที่มีในห้องสมุด เพื่อให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ ผู้จัดพิมพ์ ปีพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเลขเรียกหนังสือ (Call number) บอกตำแหน่งที่เก็บเพื่อให้หาวัสดุนั้นๆ ได้ถูกที่โดยไม่เสียเวลา บัตรรายการมีขนาดมาตรฐาน คือ 3” X 5” ด้านล่างเจาะรูสำหรับให้แกนเหล็กร้อยบัตรไว้กับลิ้นชักของตู้บัตรรายการเพื่อไม่ให้บัตรสลับที่หรือถูกนำออกจากลิ้นชัก


ประโยชน์ของบัตรรายการ


1. ช่วยให้ค้นหาหนังสือที่ต้องการ เพียงผู้ใช้ทราบชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ชื่อหัวเรื่อง หรือทราบชื่อผู้แต่งร่วม ผู้แปล ผู้รวบรวม ชื่อชุด หรือข้อมูลใดๆ ที่ห้องสมุดพิมพ์ไว้บรรทัดแรกของบัตร ก็สามารถใช้ บัตรรายการประเภทต่างๆที่ห้องสมุดจัดทำขึ้น ได้แก่ บัตรผู้แต่ง บัตรชื่อเรื่อง บัตรหัวเรื่อง หรือบัตรอื่น ๆ ตรวจค้นว่าห้องสมุดมีหนังสือเล่มที่ต้องการหรือไม่
2. บอกตำแหน่งที่อยู่ของหนังสือแต่ละเล่มในห้องสมุด เลขเรียกหนังสือในบัตรรายการจะช่วยให้ผู้ใช้ทราบว่าหนังสือเล่มที่ต้องการอยู่ที่ใดของห้องสมุด
3. เป็นตัวแทนของหนังสือแต่ละเล่มที่มีอยู่ในห้องสมุด รายการต่าง ๆ ในบัตรรายการ ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ครั้งที่พิมพ์ พิมพ์ลักษณ์ บรรณลักษณ์ ชื่อชุด และหมายเหตุ รายการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้ทราบรายละเอียดก่อนได้เห็นตัวเล่มจริง ทำให้สามารถเลือกหนังสือได้ตรงกับความต้องการ
4. รายละเอียดของหนังสือที่บันทึกในบัตรรายการสามารถนำไปรวบรวมเขียนบรรณานุกรมได้ หนังสือบางเล่มส่วนหน้าปกในอาจฉีกขาดหรือหลุดหายไปบางส่วนสามารถดูรายละเอียดในบัตรรายการแทนได้
5. ผู้ที่ต้องการค้นคว้าผลงานของผู้แต่งคนเดียวกัน จะสะดวกอย่างยิ่งถ้าดูจากบัตรผู้แต่ง ทำให้ทราบนามจริงของผู้แต่งที่ใช้นามแฝงด้วย
6. ผู้ที่ต้องการค้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สามารถใช้บัตรหัวเรื่อง ซึ่งจะบอกชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง และอื่นๆ ที่บันทึกรายการสำคัญของหนังสือไว้ด้วย จะได้หนังสือจำนวนหลายเล่มในเรื่องที่ต้องการ พร้อมทั้งโยงเพิ่มเติมไปยังหัวเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องให้ด้วย
7. บัตรโยงนำผู้ใช้จากชื่อบางชื่อ หรือหัวเรื่องบางหัวเรื่องไปยังชื่อหรือหัวเรื่องที่ถูกต้อง ทำให้ ผู้ใช้สามารถค้นพบสารสนเทศที่ต้องการได้ง่าย


ส่วนต่าง ๆ ของบัตรรายการ


บัตรรายการมีส่วนประกอบดังนี้ คือ


1. เลขเรียกหนังสือ (Call number) เป็นเลขหมายประจำตัวของหนังสือแต่ละเล่ม อยู่มุมซ้ายบนของบัตร ประกอบด้วยเลขหมู่หนังสือ อักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่ง และอักษรตัวแรกของชื่อเรื่อง สำหรับบอกตำแหน่งที่จัดเก็บเพื่อให้ค้นได้สะดวก
2. ชื่อผู้แต่ง (Author) อาจเป็นบุคคล องค์การ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ การลงชื่อผู้แต่ง มีหลักเกณฑ์มากมายแต่ที่ควรทราบคือผู้แต่งที่เป็น ชื่อบุคคลถ้าเป็นคนไทย ให้ลงชื่อตัว และตามด้วยชื่อสกุลกรณีผู้แต่งเป็นชาวต่างประเทศ ให้ขั้นต้นด้วยชื่อสกุลและตามด้วยชื่อตัว ผู้แต่งที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานใช้ตามที่เรียกขาน เช่น กรมศิลปากร สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
3. ชื่อเรื่อง (Title) ใช้ชื่อที่ปรากฏในหน้าปกใน
4. ครั้งที่พิมพ์ (Edition) จะลงรายการตั้งแต่พิมพ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป
5. พิมพลักษณ์ (Imprint) หมายถึงข้อมูลเกี่ยวกับการพิมพ์ประกอบด้วย


• สถานที่พิมพ์ (Place of publication) ได้แก่ชื่อจังหวัด ที่มีการจัดพิมพ์หนังสือ เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา
• สำนักพิมพ์ (Publisher) ได้แก่ ชื่อบริษัทห้างร้าน ที่พิมพ์ หนังสือ เช่น ซีเอ็ด ดอกหญ้า ดวงกมล
• ปีที่พิมพ์ (Date of publication) คือตัวเลขของปีที่พิมพ์


6. บรรณลักษณ์ (Collation) คือ รายการแสดงลักษณะของหนังสือ เช่น จำนวนหน้า (Page) จำนวนเล่ม ภาพประกอบ ตาราง แผนภูมิ
7. เลขมาตรฐานหนังสือสากล (International Standard Book Number = ISBN) คือ ตัวเลขที่กำหนดขึ้นแทนชื่อหนังสือ สำนักพิมพ์ และประเทศ มี 10 หลัก สำหรับใช้เป็นรหัสในการติดต่อสั่งซื้อ
8. แนวสืบค้น (Tracing) เป็นข้อความที่บอกให้ทราบว่า บัตรรายการสำหรับหนังสือเล่มหนึ่ง ๆ มีกี่บัตร และมีหัวเรื่องเพิ่มเติมอะไรที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้การค้นหาหนังสือเล่มนั้น ๆ ง่ายขึ้น


การสืบค้นสารสนเทศจากบัตรรายการ


ห้องสมุดทุกแห่งมีการจัดทำบัตรรายการหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหา ฉะนั้นถ้าผู้ใช้ต้องการทราบว่าห้องสมุดมีทรัพยากรสารสนเทศนั้นหรือไม่ ให้ค้นหาจากบัตรรายการวิธีใช้บัตรรายการที่ถูกต้องคือ


1. ใช้บัตรผู้แต่ง เมื่อทราบชื่อผู้แต่ง ผู้แต่งร่วม ผู้แปล บรรณาธิการ ผู้รวบรวม ผู้วาดภาพประกอบ ชื่อนิติบุคคลและบัตรโยงชื่อนิติบุคคล
2. ใช้บัตรชื่อเรื่อง เมื่อทราบชื่อเรื่องหรือชื่อชุดของหนังสือ สำหรับบัตรหลักที่ลงชื่อเรื่องเป็นรายการหลักและลงรายการแบบย่อหน้าคำค้างก็เรียงอยู่ในลิ้นชักบัตรชื่อเรื่อง
3. ใช้บัตรเรื่อง เมื่อไม่ทราบชื่อผู้แต่งและชื่อเรื่องของหนังสือ ให้คิดคำที่ครอบคลุมเนื้อหาของหนังสือที่ต้องการซึ่งจะพบได้ในลิ้นชักบัตรเรื่อง
4. หากไม่พบบัตรที่ตรงกับข้อมูลที่มีแสดงว่าห้องสมุดไม่มีหนังสือเรื่องนั้น หากพบบัตรรายการที่ต้องการ ให้จดเลขเรียกหนังสือจากมุมซ้ายบนของบัตร เพื่อนำไปค้นหาหนังสือจากชั้นหนังสือ ห้ามดึงบัตรรายการออกจากลิ้นชักโดยเด็ดขาด
5. เมื่อใช้บัตรรายการเสร็จแล้วให้นำลิ้นชักบัตรรายการเก็บเข้าตู้บัตร โดยเรียงหมายเลขประจำลิ้นชักบัตรรายการให้ถูกต้องตามลำดับ


2.2 เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศด้วยเทคโนโลยี


หมายถึง เครื่องมือสืบค้นที่บันทึกรายละเอียดของรายการสารสนเทศไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการบันทึกและสืบค้นสารสนเทศ ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นสารสนเทศได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมประเด็นหัวข้อที่ต้องการได้อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง

ปัจจุบัน แนวโน้มการใช้เครื่องมือสืบค้นด้วยเทคโนโลยีในห้องสมุดและแหล่งให้บริการสารสนเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้นตามความก้าวหน้าของวิทยาการทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จึงเป็นที่คาดกันว่าในอนาคตเครื่องมือสืบค้นรูปแบบนี้จะเข้ามาแทนที่เครื่องมือสืบค้นด้วยมือ เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีที่ใช้อย่างแพร่หลายในห้องสมุดและแหล่งให้บริการสารสนเทศ จำแนกเป็น 4 ประเภทย่อย ดังนี้


2.2.1 OPAC ย่อมาจากคำว่า Online Public Access Catalog หรือบางครั้งอาจเรียกว่า Online Catalog เป็นเครื่องมือที่บันทึกรายละเอียดข้อมูลบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศที่มีในห้องสมุดไว้ในฐานข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่ต้องใช้เครื่องอ่าน (Machainereadable format) และให้ผู้สืบค้นสารสนเทศแบบเชื่อมตรงกับฐานข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Terminal หรือ workstation ซึ่งผู้ใช้สามารถป้อนคำสำคัญหรือหัวเรื่องที่ต้องการสืบค้นและแสดงผลการสืบค้นได้ทางจอภาพ  นอกจากนี้ บางห้องสมุดได้ออกแบบ OPAC ให้มีลักษณะเป็นกราฟิก (Graphic User Interface-GUI) เพื่อการใช้ที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้สืบค้นและสามารถเข้าสืบค้นได้โดยผ่านทางบริการประเภทหนึ่งของ Internet คือ World Wide Web ดังนั้นจึงมักเรียก OPAC ที่มีลักษณะดังกล่าว WebPac


การสืบค้นสารสนเทศจาก OPAC ผู้สืบค้นมีทางเลือกในการสืบค้นหลายทาง เช่น


ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง คำสำคัญ เลขเรียกหนังสือ เป็นต้น ซึ่งผู้สืบค้นทราบข้อมูลส่วนใด ก็เพียงเลือกทางเลือกในการสืบค้น และพิมพ์คำค้นลงไป ระบบจะดำเนินการสืบค้น เมื่อพบรายการที่ต้องการ ระบบจะแสดงผลออกมา นอกจากนี้ ผู้สืบค้นสามารถใช้เทคนิคการสืบค้นขั้นสูง เช่น ตรรกบูลีน หรือการจำกัดการค้นด้วยเขตข้อมูล เข้ามาร่วมในการสืบค้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่ห้องสมุดแต่ละแห่งเลือกใช้ ซึ่งมีคำแนะนำขั้นตอนและวิธีการสืบค้นจะปรากฏบนหน้าจอเสมอ ผู้ใช้เพียงทำตามคำแนะนำที่บอกให้ไปตามลำดับ นอกจากนี้ โดยปกติห้องสมุดจะจัดทำคู่มือแนะนำวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ทีมักพบในการสืบค้นเอาไว้ให้ข้าง ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้เพื่อพบปัญหาในการค้น


นอกจาก OPAC จะใช้ในการสืบค้นหนังสือ หรือทรัพยากรสารสนเทศประเภทอื่นๆ แล้ว ยังได้รวบรวมฐานข้อมูลบทความวารสารภาษาไทย และนำให้บริการสืบค้นผ่านหน้าจอ OPAC ของห้องสมุดด้วย


วิธีการสืบค้นโดยใช้ทางเลือกต่าง ๆ ใน OPAC

1) จากหน้าจอรายการหลักของ OPAC ให้เลือกรายการที่ต้องการจะใช้เป็นทางเลือกในการสืบค้นจากเมนู เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ควรเลือกให้ถูกต้องด้วยว่าต้องการสืบค้นหนังสือ โสตทัศนวัสดุ หรือบทความในวารสาร ตามช่องที่กำหนด
2) ป้อนข้อมูลที่ต้องการสืบค้นตามรายการที่ใช้เป็นทางเลือก เช่น เลือกทางเลือกผู้แต่ง พิมพ์ชื่อผู้แต่ง เลือกทางเลือกสำคัญ พิมพ์ คำสำคัญ ที่ต้องการสืบค้น เป็นต้น ลงในช่องสี่เหลี่ยม แล้วคลิกเม้าส์ที่คำว่า ค้นหา
3) ระบบจะทำการสืบค้น และแสดงผลการสืบค้นบนหน้าจอครั้งละ 12 รายการ พร้อมทั้งบอกจำนวนรายการที่ค้นได้
4) หากต้องการได้รายละเอียดโดยย่อของรายการใด ให้คลิกเม้าส์ที่รายการที่ต้องการ ระบบจะแสดงรายละเอียดของรายการดังกล่าว ซึ่งจะประกอบไปด้วยชื่อเรื่อง ชื่อผู้รับผิดชอบ และปีพิมพ์
5) หากต้องการได้รายละเอียดที่สมบูรณ์ของรายการใด ให้คลิกเม้าส์ที่รายการที่ต้องการระบบจะแสดงรายละเอียดที่สมบูรณ์ของรายการนั้นๆ หากเป็นหนังสือหรือโสตทัศนวัสดุรายละเอียดที่ได้ประกอบด้วย เลขเรียกหนังสือ สถานที่ที่มีทรัพยากรสารสนเทศนั้น รายละเอียดทางบรรณานุกรม สถานภาพของหนังสือ ว่ามีกี่เล่ม มีอยู่ที่ใด อยู่บนชั้นหรือมีผู้ยืมไป ถ้ามีผู้ยืมจะบอกวันที่กำหนดส่งคือ (date due) หากเป็นบทความวารสาร ระบบจะแสดงผลการสืบค้นเป็นรายการย่อ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อบทความ ชื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ และปีพิมพ์ ของวารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้น รวมทั้งบอกด้วยว่าห้องสมุดมีวารสารนั้นตั้งแต่ปีใดถึงปีใด




ข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นด้วย OPAC
1. ข้อมูลบรรณานุกรม (Bibliographic description) ประกอบด้วย
 ชื่อผู้แต่ง (Author) อาจเป็นชื่อบุคคลหรือหน่วยงาน
 ชื่อเรื่อง (Title) ของหนังสือ , ชื่อวารสาร , รายงานวิจัย , วิทยานิพนธ์ , โสตทัศนวัสดุ
 พิมพ์ลักษณ์ (Imprint) ประกอบด้วยครั้งที่พิมพ์ (Edition) สถานที่พิมพ์ (Place) ได้แก่ เมืองและประเทศ , สำนักพิมพ์ (Publisher) และปีที่พิมพ์ (Year of publication)
 สถานภาพ (Status) สถานภาพของทรัพยากรสารสนเทศ มีหลายลักษณะได้แก่มีการยืมออกก็จะระบุวันกำหนดส่ง เช่น Due 12-06-04 , อยู่บนชั้น (Check shelves) อยู่ระหว่างการซื้อ (On order) , อยู่ระหว่างการจัดหมู่และทำรายการ (Cataloguing) , อยู่ระหว่างการซ่อมแซม (Repair) , ใช้ภายในห้องสมุด (Libuse only) , พร้อมให้บริการ
 เลขเรียกหนังสือ (Call number) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนทรัพยากรแต่ละรายการหากเป็นสิ่งพิมพ์จะติดไว้ที่สันหนังสือ เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ผู้ใช้ห้องสมุดต้องจดเพื่อไปหาหนังสือบนชั้น เนื่องจากหนังสือในห้องสมุดมีการเรียงตามเลขหมู่ แต่สำหรับวารสาร ห้องสมุดไม่มีการกำหนดเลขหมู่ให้
 รูปเล่ม (Description) บอกข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหน้า ภาพประกอบ และขนาด
 หมายเหตุ (Note) เป็นการระบุข้อมูลของทรัพยากรเพิ่มเติม เช่น มีข้อมูลบรรณานุกรม
 สถานที่ (Location) เป็นการบอกว่าทรัพยากรรายการนั้นอยู่ที่ห้องสมุดใด
 หัวเรื่อง (Subject) เป็นการระบุคำหรือกลุ่มคำที่ใช้แทนเนื้อหาของทรัพยากร มีประโยชน์ในแง่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถหาสารสนเทศได้มากยิ่งขึ้น
 เลขมาตรฐาน (ISBN) เป็นเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือแต่ละรายการ


วิธีการหาหนังสือในห้องสมุด


เมื่อนักศึกษาสืบค้นข้อมูลบรรณานุกรมได้แล้ ต้องจด Call No. เพื่อไปหาหนังสือบนชั้นในห้องสมุดที่จัดเก็บหนังสือเล่นนั้น โดยต้องดูสถานภาพของหนังสือด้วยว่าอยู่บนชั้นพร้อมให้บริการ สามารถยืมออกได้หรือไม่ หนังสือจะเรียงลำดับตามเลขเรียกหนังสือ จากหมวด A ไปหมวด Z และจากเลขน้อยไปหาเลขมาก โดยเรียงบนชั้นจากซ้ายไปขวา และจากชั้นบนลงชั้นล่าง


2. ข้อมูลดรรชนีๆวารสาร (periodica Index) ของบทความในวารสารภาษาไทย ประกอบด้วย


 ชื่อผู้แต่ง (Author) อาจเป็นชื่อบุคคลหรือหน่วยงาน
 ชื่อเรื่อง (Title) เป็นชื่อบทความวารสาร
 ปี (Year) ได้แก่ ปีพิมพ์ของวารสาร
 ชื่อห้องสมุดที่บอกรับวารสารชื่อนั้น ๆ (Library that have this journal ) บอกข้อมูลเกี่ยวกับห้องสมุดและปีที่ ฉบับที่ของวารสารที่ห้องสมุดบอกรับ
 สถานที่ (Location) บอกข้อมูลเกี่ยวกับชื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ เดือน ปี และเลขหน้าที่ปรากฏบทความ
 เลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (ISSN)
 หัวเรื่อง ๆ(Subject) เพื่อใช้ในการสืบค้น


วิธีการหาบทความวารสารภาษาไทย


การจัดเก็บวารสารภาษาไทยในห้องสมุด เรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อวารสารจาก อักษร ก – ฮ เมื่อพบว่าบทความ ที่ต้องการอยู่ในวารสารชื่อใด ต้องจดปีที่ ฉบับที่ ที่ปรากฏบทความ เพื่อไปหาวารสารฉบับนั้นบนชั้น

2.2.2 ฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Database) เป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ ให้รายละเอียดทางบรรณานุกรม บทคัดย่อและหรือเนื้อหาเต็ม (Full-text) เอกสารอ้างอิง ของสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความวารสาร งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ฯลฯ เช่น ฐานข้อมูล CINAHL Plus with fulltext , ProQuest, Medline ฯลฯ

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
หมายถึง สารสนเทศที่จัดเก็บไว้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีชุดคำสั่งระบบจัดการฐานข้อมูล ทำหน้าที่ควบคุมการจัดการ และการใช้ฐานข้อมูล

ประเภทของฐานข้อมูลแบ่งตามลักษณะการใช้งานแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ฐานข้อมูลออฟไลน์ (Offline Database) หมายถึง ฐานข้อมูลที่จัดเก็บสารสนเทศไว้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ซีดีรอม (CD-ROM) การปรับปรุง และเรียกใช้งานฐานข้อมูลไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา

2. ฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Database) หมายถึง ฐานข้อมูลที่ให้บริการผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ผู้จัดการฐานข้อมูลสามารถปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัย และผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันจะให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต



ประเภทของฐานข้อมูลแบ่งตาม เนื้อหาสารสนเทศที่ให้บริการแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ฐานข้อมูลบรรณานุกรม หมายถึง ฐานข้อมูลที่ให้สารสนเทศทางบรรณานุกรม เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง แหล่งผลิต และอาจมีสาระสังเขป เพื่อแนะนำผู้ค้นคว้าให้ไปอ่านรายละเอียดจากต้นฉบับจริง ได้แก่ ฐานข้อมูลโอแพค (OPAC) ของห้องสมุด ฐานข้อมูล TIAC ให้ข้อมูลบรรณานุกรม และสาระสังเขปของวิทยานิพนธ์ไทย ฐานข้อมูล DAO ให้ข้อมูลบรรณานุกรม และสาระสังเขปของวิทยานิพนธ์ต่างประเทศ หรือ ฐานข้อมูล ERIC ให้ข้อมูลบรรณานุกรม และสาระสังเขปของหนังสือ และบทความจากวารสารด้านการศึกษา เป็นต้น

2. ฐานข้อมูลเนื้อหาฉบับเต็ม หมายถึง ฐานข้อมูลที่ให้สารสนเทศครบถ้วนเช่นเดียวเหมือนต้นฉบับ เช่น ฐานข้อมูล IEEE/IEE และ ACM เป็นฐานข้อมูลฉบับเต็มของบทความจากวารสาร นิตยสาร รายงานการประชุมความก้าวหน้าทางสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ตัวอย่างฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ต่างประเทศที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาบอกรับเป็นสมาชิก และให้บริการผ่านเครือข่าย UniNet ได้แก่

1. Science Direct

ฐานข้อมูลบทความวารสารอิเล็กทรอนิกส์ใน 24 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จำนวน 1,800 ชื่อของสำนักพิมพ์ Elsevier science, Academic Press และสำนักพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งวารสารวิจารณ์ (Reviews) จำนวนกว่า 6.2 ล้านระเบียน สามารถเข้าถึงฉบับเต็มได้เกือบทุกชื่อ ตั้งแต่ปี 1995 – ปัจจุบัน สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.sciencedirect.com/

2. IEEE/IEE Electronic Library (IEL) ฐานข้อมูลเอกสารฉบับเต็มทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น Computer Science, Acoustics, Aerospace, Engineering Education, Industrial Engineering, Remote Sensing, Transportation มีเอกสารฉบับเต็มของวารสาร นิตยสาร รายงานความก้าวหน้า เอกสารการประชุม และเอกสารมาตรฐานของ The Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) และ Institute of Electrical Engineering (IEE) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายการ (Documents) ตั้งแต่ปี 1988 – ปัจจุบัน มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง แสดงผลเอกสารฉบับเต็มในรูป PDF File สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.ieee.org/ieeexplore/

3. ProQuest Dissertations & Theses – A&I ฐานข้อมูลสาระสังเขปวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก และปริญญาโท ของสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมถึงสถาบันการศึกษาจากทวีปยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย และแอฟริกา มากกว่า 1,000 แห่ง มีสาระสังเขปวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านรายการ (Entries) มีแสดงผลการเพิ่มสาระสังเขปวิทยานิพนธ์อย่างน้อย 55,000 รายการ (Title) ต่อปี สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://wwwlib.umi.com/dissertations

4. ACM Digital Library ฐานข้อมูลบรรณานุกรม สาระสังเขป และเอกสารฉบับเต็มด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากบทความฉบับเต็มของวารสาร นิตยสาร รายงานความก้าวหน้า เอกสารการประชุม และข่าวสารไม่น้อยกว่า 325 ชื่อ ที่ตีพิมพ์โดย Association for Computing Machinery (ACM) ตั้งแต่ปี 1985 – ปัจจุบัน มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง แสดงผลเอกสารฉบับเต็มในรูป PDF File สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.acm.org/

5. Lixis.com and Nexis.com ฐานข้อมูลเอกสารฉบับเต็มทางด้านกฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา ข่าว ธุรกิจของสหรัฐอเมริการ และประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ปี 1980 – ปัจจุบัน ประกอบด้วยฐานข้อมูลย่อย 2 ฐานข้อมูล คือ Lexis.com เป็นฐานข้อมูลทางด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กฎหมายระหว่างประเทศ และคำพิพากษาสูงสุดของสหรัฐอเมริกา มีเอกสารฉบับเต็มไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านรายการ (Documents) และ Nexis.com เป็นฐานข้อมูลทางบริการธุรกิจ และการจัดการ ข่าว แหล่งข้อมูลธุรกิจ ธุรกิจการเงิน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มีเอกสารฉบับเต็มไม่น้อยกว่า 4.1 ล้านรายการ (Docuemtns) แสดงผลในรูป Texthtml มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.lexisnexis.com/th/

6. H.W.Wilson ฐานข้อมูลดัชนีสาระสังเขป และเอกสารฉบับเต็มจากบทความวารสารไม่น้อยกว่า 1,800 ชื่อเรื่องครอบคลุมทุกสาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยี ชีววิทยา และการเกษตร ศิลปะ ธุรกิจ การศึกษา มนุษยศาสตร์ กฎหมาย บรรณารักษศาสตร์ และสารสนเทศ สังคมศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สัตวศาสตร์ และสารสนเทศ สังคมศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สัตวศาสตร์ และสันทนาการ ฯลฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 – ปัจจุบัน แสดงผลในรูป PDF และสารสนเทศ สังคมศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สัตวศาสตร์ และสันทนาการ ฯลฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 – ปัจจุบัน แสดงผลในรูป PDF File และ Text Html มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละครั้งสามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://vnweb.hwwilsonweb.com/hww/jumpstart.jhtml


7. ISI Web of Science ผลิตโดยบริษัท Thomson Corporation เป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรม และสาระสังเขป ครอบคลุมสาขาวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ประกอบด้วยฐานข้อมูลย่อยด้านการอ้างอิงผลงานตีพิมพ์วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกสาขาวิชา (Science citations, Social Science citation และ Arts & Humanities citation) จากวารสารไม่น้อยกว่า 8,500 ชื่อ มีข้อมูลไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านระเบียน (Records) ตั้งแต่ปี 2001 – ปัจจุบัน มีข้อมูลจำนวนกว่า 1.1 ล้านระเบียน แสดงผลในรูป text html มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งสามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://isiknowlegde.com

8. eBooks เป็นการให้บริการหนังสือ และวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยืมหนังสือที่ห้องสมุดสามารถสืบค้น และใช้งานหนังสือเล่มที่ต้องการได้ผ่านเครือข่ายสารสนเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษา UniNet สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีหนังสือที่ให้บริการอยู่จำนวน 14,470 รายการ ประกอบด้วย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ลิขสิทธิ์ของ SpringerLink จำนวน 1,528 รายการ สามารถใช้งานได้ที่ URL: http://ebooks.springerlink.com/ วิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ Dissertation Fulltext จำนวน 3,850 รายการสามารถใช้งานได้ที่ URL: http://ebook.thailis.or.th/ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ลิขสิทธิ์ของ NetLibrary จำนวน 5,962 รายการ และหนังสือ Publicly accessible eBooks จำนวน 3,400 รายการ สามารถใช้งานได้ที่ URL: http://www.netlibrary.com/

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (2)

2.2.3 CD-ROM โดยทั่วไปมักใช้ CD-ROM เป็นเครื่องมือที่ใช้สืบค้นฐานข้อมูลบรรณานุกรม (Bibliographic database) และหรือข้อมูลเนื้อหาเต็ม (Fulltext) ส่วนมากจะเป็นบทความวารสารภาษาต่างประเทศ รายงานการประชุมทางวิชาการ รายงานการวิจัย บทวิจารณ์หนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆที่เป็นภาษาต่างประเทศ ส่วนมากซีดี-รอม 1 ชื่อมักรวบรวมข้อมูลเน้นเฉพาะทางใดทางหนึ่ง เช่น Agricola รวบรวมข้อมูลทางด้านการเกษตร COMPENDEX Plus รวบรวมข้อมูลด้านวิศวกรรมศาสตร์ ABI/INFORM รวบรวมข้อมูลในสาขาธุรกิจ การจัดการฯลฯ ERIC รวมรวมข้อมูลในสาขาการศึกษา เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมฐานข้อมูลซีดี-รอมให้บริการเฉพาะในรูปของแผ่นซีดี –รอมเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผู้ผลิตบางรายได้ ให้บริการออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลอีกทางหนึ่ง


CD-ROM ส่วนใหญ่เป็นการผลิตและเผยแพร่จากบริษัทจากบริษัทและสำนักพิมพ์ต่างๆรายการทรัพยากรสารสนเทศที่สืบค้นได้จาก CD-ROM บางรายการจึงอาจไม่มีไว้บริการในห้องสมุด ดังนั้นผู้ใช้ต้องนำรายการที่สืบค้นได้ไปตรวจสอบกับรายการทรัพยากรในห้องสมุดเพื่อให้ทราบว่ามีไว้บริการในห้องสมุดหรือไม่

3.2 การสืบค้น CD-ROM และฐานข้อมูลออนไลน์

การสืบค้น CD-ROM ผู้สืบค้นสามารถใช้เทคนิคการสืบค้นอย่างง่าย หรือเทคนิคการสืบค้นขั้นสูงได้เช่นเดียวกับการสืบค้นอื่น ๆ แต่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นหลักทั่วไปดังนี้

หลักทั่วไปในการสืบค้นข้อมูล

1) วิเคราะห์เรื่องที่ต้องการสืบค้นและกำหนดคำสำคัญเพื่อใช้ในการค้น การวิเคราะห์เรื่องที่ต้องการสืบค้นคือ ผู้ใช้ต้องรู้ว่าต้องการข้อมูลในเรื่องใด แล้วจึงกำหนดเรื่องที่ต้องการค้นเป็นคำสำคัญในการสืบค้น

2) เลือกค้นจากฐานข้อมูลที่เหมาะสม ผู้ใช้ควรทราบว่าเรื่องที่สืบค้นเป็นเรื่องในสาขาใดเลือกฐานข้อมูลให้ตรงหรือใกล้เคียงกับสาขาวิชาที่สืบค้น เพื่อช่วยให้ได้ผลการสืบค้นที่ตรงกับความต้องการ

3) ลงมือสืบค้น การสืบค้นโดยใช้ฐานข้อมูลซีดี – รอม โดยทั่วไปสามารถสืบค้นได้ 2 วิธี คือ การใช้เมนูในการสืบค้น และการสืบค้นโดยการพิมพ์คำสั่ง การสืบค้นโดยใช้คำสั่ง ผู้ใช้จำเป็นต้องศึกษาคำสั่งต่าง ๆ ในการสืบค้น โดยฐานข้อมูลสำเร็จรูปแต่ละฐานที่จัดทำโดยบริษัทที่ แตกต่างกัน มักมีวิธีการสืบค้นที่แตกต่างกันด้วย

4) แสดงผลการสืบค้น เมื่อผู้ใช้สืบค้นได้ปริมาณรายการที่พอเพียงกับความต้องการแล้วสามารถแสดงผลรายการที่สืบค้นได้ 3 รูปแบบใหญ่ คือ

4.1) การแสดงผลแบบเต็มรูปแบบ (Full-Text) เป็นการแสดงผลทุกเขตข้อมูลที่รายการนั้นมีอยู่ โดยแต่ละรายการอาจมีจำนวนเขตข้อมูลแตกต่างกันไป

4.2 ) การแสดงผลแบบย่อ เป็นการแสดงผลเฉพาะรายการทางบรรณานุกรม และหรือบทคัดย่อ

4.3) การแสดงผลแบบอิสระ เป็นการแสดงผลที่กำหนดเขตข้อมูลในการแสดงผลโดยตัวผู้ใช้เอง

5) เลือกรายการที่ตรงกับความต้องการและบันทึกผลข้อมูล เป็นการเลือกเฉพาะรายการที่ผู้ใช้ต้องการ เรียกว่าเป็นการ Mark Record เพื่อให้ระบบทราบว่าผู้ใช้ต้องการรายการใดบ้างในการบันทึกผลออกทางกระดาษ



วิธีการหาบทความในวารสารภาษาอังกฤษ มี 2 ลักษณะ

เนื่องจากฐานข้อมูลอ้างอิง ครอบคลุมบทความในวารสารทุกสาขาที่ตีพิมพ์ทั่วโลก วารสารที่มีบทความปรากฎอยู่ จึงมักจะไม่มีในห้องสมุด ดังนั้นวิธีการหาบทความในวารสารภาษาอังกฤษ จึงมี 2 ลักษณะ ดังนี้

1) วารสารที่มีในห้องสมุด นักศึกษาต้องจดชื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ปรากฏบทความ เพื่อไปหาบทความอ่าน โดยวารสารภาษาอังกฤษมีการจัดเก็บโดยเรียงลำดับตัวอักษรของชื่อวารสารตั้งแต่ A –Z

2) วารสารที่ไม่มีในห้องสมุด นักศึกษาต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นวารสารที่บอกรับในห้องสมุดใด จากนั้นจดชื่อบทความ ชื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ เพื่อขอใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด

นอกจากฐานข้อมูลซีดีรอมจะให้ข้อมูลดรรชนีวารสารและสาระสังเขปในกรณีที่เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงแล้ว ยังอาจพบข้อมูลเนื้อหาฉบับเต็มในฐานข้อมูลซีดีรอมอีกด้วย เช่น ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ สารานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ProQuest ScienceDirect Pubmedเป็นต้น



2.2.4 เครื่องมือสืบค้นบน Internet จะช่วยให้การเข้าถึงสารสนเทศบนอินเตอร์เน็ตเป็นไปได้ตรงต่อความต้องการอย่างง่ายและสะดวก มีอยู่ 3 ประเภทได้แก่ นามานุกรม กลไกการสืบค้น และกลไกการสืบค้นที่ทำงานร่วมกันหลายกลไก ทั้งนี้ ผู้ใช้ต้องทราบ URL (Uniform Resource Locator) หรือที่อยู่ทาง Internet ของ Web ที่ต้องการสืบค้น เพื่อใช้ในในการเข้าถึง Web นั้นๆได้ รวมทั้งให้ข้อมูลสื่อประสม (Multimedia) ด้วย โดยเฉพาะการสืบค้นข้อมูลพจนานุกรม สารานุกรม และดรรชนีวารสาร

ห้องสมุดที่ทันสมัยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจัดบริการเครื่องมือสืบค้นสารสนเทศหลักให้แก่ผู้ใช้ คือ OPAC โดยเฉพาะในรูปแบบ WebPac ซึ่งนอกจากผู้ใช้จะสามารถสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่มีในห้องสมุดแห่งนั้นๆ แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเข้าถึงและสืบค้นสารสนเทศอื่นๆได้จาก CD-ROM หรือ Search Engines ตลอดจนสามารถสืบค้นรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีในห้องสมุดอื่นๆ โดยผ่านทาง WebPac ได้ด้วย



1) นามานุกรม (Directories) เป็นเครื่องมือในการสืบค้นที่รวบรวมสารสนเทศบนอินเตอร์เน็ต และคัดแยกสารสนเทศเหล่านั้นออกเป็นกลุ่ม ตามสาขาวิชาหรือตามหลักเกณฑ์ที่จัดทำกำหนดขึ้น การสืบค้นสามารถทำได้โดยการเลือกกลุ่มสาขาวิชาที่ต้องกับความต้องการ และเลือกเรื่องต่าง ๆ ตาม หัวข้อย่อยที่นามานุกรมรวบไว้ เช่น www.google.com , www.yahoo.com , www.sanook.com เป็นต้น

2) กลไกการสืบค้น (Search engine) เป็นเครื่องมือในการสืบค้นที่อาศัยการทำงานของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น โดยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นทำหน้าที่รวบรวมสารสนเทศและส่งให้โปรแกรมจัดทำดรรชนีจัดทำดรรชนีตามที่กลไกกำหนด เช่น ทำดรรชนีจากชื่อเรื่อง หรือชื่อเว็บไซด์ เป็นต้น ผู้สืบค้นต้องพิมพ์คำค้นของเรื่องที่ต้องการสืบค้นลงในช่องที่กำหนด จากนั้นกลไกจะทำหน้าที่คัดเลือกสารสนเทศที่ตรงกับคำค้นมาแสดงผล เช่น www.google.com , www.yahoo.com , www.metacrawler.com , www.all4one.ocm เป็นต้น



เนื่องจากเครื่องมือสืบค้นสารสนเทศบนอินเตอร์เน็ตมีความหลากหลาย และได้พัฒนาให้มีเทคนิคต่าง ๆ ประกอบในกาสืบค้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สืบค้นได้รับสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการของผู้สืบค้น ซึ่งผู้สืบค้นสามารถใช้เทคนิคการสืบค้นต่าง ๆ มาประกอบในการค้น เช่น เทคนิคตรรกบูลีน เทคนิคการตัดคำ หรือเทคนิคการใช้รหัสกำกับคำค้น เป็นต้น ซึ่งแต่ละเครื่องมือจะมีวิธีการใช้การเทคนิคแตกต่างกัน ซึ่งผู้สืบค้นต้องศึกษาเพิ่มเติมจากคำแนะนำซึ่งในแต่ละเครื่องมือได้มีการอธิบายประกอบไว้ ส่วนข้อมูลที่ได้จาการสืบค้นอินเตอร์เน็ต จะได้ข้อมูลทุกรูปแบบ ทั้งข้อมูลบรรณานุกรม ข้อมูลดรรชนีวารสารและสาระสังเขป ข้อมูลเนื้อหาเต็มฉบับ และข้อมูลสื่อประสม ดังนั้นการสืบค้นอินเตอร์เน็ตจึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

ความหมายของอินเทอร์เน็ต


อินเทอร์เน็ต (Internet) มาจากคำว่า INTERNATIONAL NETWORK แปลว่าเครือข่ายนานาชาติจัดเป็นอภิมหาเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากในระบบเครือข่ายขนาดใหญ่เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยสายเคเบิลหรืออุปกรณ์สื่อสารชนิดต่าง ๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา

เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศบนอินเทอร์เน็ต


การเข้าถึงสารสนเทศบนอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยอาศัยอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงสารสนเทศบนอินเทอร์เน็ตที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบันได้แก่ โปรแกรมค้นดู (Browsers) เช่น Internet Explorer Netscape Communicator เป็นต้น


สารสนเทศโดยทั่วไปบนเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web – WWW.) อาจเป็นได้ทั้งตัวอักษร เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ หรือแฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ หน่วยงานต่าง ๆ ในปัจจุบันนิยมเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ผ่านระบบเวิลด์ไวด์เว็บในอินเทอร์เน็ต หน่วยงานดังกล่าวมีทั้งที่เป็นส่วนราชการ สถาบันการศึกษา เอกชน และบุคคลทั่วไปและมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้จำเป็นต้องพิจารณาความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนนำสารสนเทศที่สืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ตมาใช้


การค้นหาสารสนเทศบนอินเทอร์เน็ตโดยผ่านทางเวิลด์ไวด์เว็บนั้น มีเครื่องมือที่ใช้ในการสืบค้นสารสนเทศที่เรียกว่า โปรแกรมค้นหา (Search engines) การสืบค้นสารสนเทศด้วยโปรแกรมค้นหา แบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ การสืบค้นด้วยคำสำคัญ (Keyword) และการสืบค้นด้วยกลุ่มเนื้อหา (Directories)


การสืบค้นด้วยคำสำคัญ


การสืบค้นด้วยคำสำคัญเป็นการสืบค้นโดยใช้คำที่โปรแกรมค้นหาจัดทำดรรชนี และเก็บไว้ในรูปฐานข้อมูลซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละโปรแกรม เว็บไซต์ที่บริการเครื่องมือสืบค้นด้วยวิธีนี้ที่รู้จักกันดี เช่น Google (www.google.com) และ Lycos (www.lycos.com) เป็นต้น โปรแกรมค้นหาแต่ละโปรแกรมมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน ผู้ใช้ควรทราบว่าโปรแกรมค้นหาที่ใช้เน้นการทำดรรชนีประเภทใด มีการให้น้ำหนักสารสนเทศแต่ละเรื่องอย่างไรและควรใช้มากกว่าหนึ่งโปรแกรม เพื่อให้สืบค้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและศึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมค้นหาแต่ละชื่อได้จาก www.searchengines.com และเว็บไซต์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต



1. การติดต่อสื่อสาร ผู้ใช้สามารถส่งข่าวสารถึงเพื่อน นักศึกษาสามารถส่งรายงาน หรือถามข้อสงสัย หรือแสดงความคิดเห็นต่ออาจารย์หรือผู้สอนทาง E-mail ส่วนผู้สอนอาจจะมอบหมายงานแก่นักศึกษาทาง E-mail ได้เช่นกัน สามารถส่งบัตรอวยพรในเทศกาลต่างๆ ได้ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด วันคริสต์มาส ไปได้ทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว หน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ ที่ต้องการแจ้งข่าวสาร ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลก การส่งทาง E-mail จะสะดวกรวดเร็วและประหยัดมาก
2. จัดประชุมทางไกล สำหรับหน่วยงานที่มีสมาชิกในเครือข่ายทั่วโลกให้ได้ประชุมพร้อม ๆ กันทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าลงทะเบียน ค่าโรงแรม ค่าอาหาร
3. สามารถติดตามเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นงานอาชีพ งานอดิเรก หรือสิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป หรือ เกมส์ต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ นั้นได้มาจากกลุ่มข่าวซึ่งมีอยู่นับหมื่นกลุ่ม จากกระดานสนทนาต่างๆ ข้อมูลเหล่านั้นได้มาจากความคิดเห็น ข้อแนะนำและข้อเท็จจริงที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกใส่ไว้
4. แหล่งความรู้ทุกรูปแบบ สามารถค้นหาข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ จากทั่วโลกได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ข้อมูลที่มีลักษณะเหมือนหนังสืออ้างอิงจำพวก พจนานุกรมภาษาต่าง ๆ สารานุกรม แผนที่ ข้อมูลที่เป็นบทความจากวารสาร ข้อมูลที่เป็นผลงานวิจัย ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต้นแหล่ง จากการค้นเพียงครั้งเดียวจะได้ข้อมูลในเวลาอันรวดเร็ว จึงทำให้มีงานวิจัยงานประดิษฐ์เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา
5. ซื้อขายสินค้าและบริการ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ตลอดจนคนทั่วไปสามารถโฆษณาสินค้าของตนทางอินเทอร์เน็ตในราคาถูกและให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่เผยแพร่ไปยังผู้บริโภคได้มากกว่าสื่อโฆษณาอื่น ๆ ในทางกลับกันผู้บริโภคก็สามารถสั่งสินค้าทางอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน
6. รับข่าวสารล่าสุดได้ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวกีฬา รายงานอากาศ ราคาหุ้น
7. เพื่อความบันเทิง (Entertainment) เล่นเกมส์ ดูหนัง ฟังเพลง


บริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายสาธารณะที่มุ่งให้สมาชิกได้ใช้ทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าสูงสุด อินเทอร์เน็ตจึงมีศูนย์ให้บริการทั่วโลก ผู้ใช้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางและมากที่สุด ปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่เชื่อมต่ออยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนับล้านเครื่อง ผู้ใช้ในเครือข่ายสามารถใช้บริการต่าง ๆ ได้ดังนี้


1. บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail = E-mail) ผู้ใช้สามารถติดต่อรับ – ส่ง ข้อความกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอื่น ๆ ทั่วโลกคล้ายกับการส่งจดหมายทางไปรษณีย์ แต่มีความสะดวกและรวดเร็วกว่าเพราะส่งผ่านระบบเครือข่าย ผู้รับและส่ง E-mail จะต้องมี
2. บริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูล (File transfer Protocol = FTP) ผู้ใช้สามารถเคลื่อนย้ายแฟ้มข้อมูลโปรแกรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวอักษร รูปภาพ เสียง จากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นการสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยให้กว้างขวางออกไป การโอนย้ายแฟ้มข้อมูลแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การ Download คือ การโอนย้ายข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นมายังเครื่องของเราและการ Upload คือการโอนย้ายข้อมูลจากเครื่องของเรายังเครื่องอื่น
3. บริการเข้าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อื่นในระยะไกล (Telnet) ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจากระยะไกล ซึ่งมีโปรแกรมหรือบริการนอกเหนือไปจากเครื่องที่ใช้อยู่ การสั่งให้โปรแกรมทำงานได้บนเครื่องอื่นทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเดินทางไปยังเครื่องนั้น โดยโปรแกรม Telnet จะจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ให้เสมือนเป็นจอภาพบนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่ผู้ใช้ต้องการเข้าถึงทำให้รู้สึกเหมือนั่งทำงานหน้าเครื่องนั้นโดยตรง
4. บริการสนทนากับผู้อื่นแบบทันทีทันใด ผู้ใช้เครือข่ายสามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้อื่นในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาเดียวกัน มี 4 ลักษณะคือ


การสนเทนาแบบคน 2 คน เป็นการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกัน ระหว่างคน 2 คนผ่านทางจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองฝ่าย โดยใช้โปรแกรม Talk นับเป็นการพูดคุยทางออนไลน์แบบแรก ๆ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม
การสนเทนาเป็นกลุ่ม เป็นการพิมพ์ข้อความโต้ตอบระหว่างกันได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ทุกคนจะเห็นข้อความที่แต่ละคนพิมพ์ เหมือนกำลังนั่งอยู่ด้วยกันในห้องสนทนา โปรแกรมที่นิยมในปัจจุบัน คือ mIRC, PIRCH, Comic Chat
บริการเพจเจอร์ส่วนตัว เป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถส่งข้อความของตนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังเครื่องผู้รับได้ไม่ว่าเครื่องผู้รับจะใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่หรือไม่ก็ตาม โปรแกรมที่นิยมใช้คือ ICQ
การโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถพูดคุยกันได้เหมือนการใช้โทรศัพท์ตามบ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าการใช้โทรศัพท์ทางไกล ทั้งนี้โดยใช้โปรแกรม Internet Phone, Webphone, Cooltalk โดยผู้ใช้ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์มัลติมีเดีย (ไมโครโฟนและการ์ดเสียง) ติดตั้งไว้ด้วย หากต้องการพูดกันแบบเห็นหน้าและอิริยาบทของกันและกัน ให้ใช้โปรแกรม CU-See Me, Free Vue, Hind Site ใช้ประกอบกับกล้องวีดิโอขนาดจิ๋วซึ่งต่อกับการ์ดวีดิโอ


5. บริการบอร์ดข่าวสาร (User’s Network = Usenet) เป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนข่าวสารหรือความคิดเห็นของตนกับผู้อื่นตามความสนใจ โดยมีการจัดกลุ่ม เรียกว่ากลุ่มข่าว (Newsgroup) ปัจจุบันมีกลุ่มข่าวมากกว่า 15,000 กลุ่ม การแลกเปลี่ยนข่าวสารมีลักษณะคล้ายการส่ง E-mail เพียงแต่ไม่ได้ส่งไปยังผู้รับโดยตรง แต่จะส่งไปยังศูนย์ที่เป็นข่าวแทน
6. บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เป็นการประกอบธุรกิจการค้าบนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันสามารถทำนิติกรรมได้ เช่น การสั่งซื้อของและชำระเงินผ่านทางบัตรเครดิต การติดต่อทำนิติกรรมกับธนาคาร
7. บริการค้นหาแฟ้มและฐานข้อมูล (File and Database Searching) ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีแฟ้มข้อมูลและฐานข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญในแขวงวิชาต่าง ๆ เก็บข้อมูลไว้เผยแพร่จำนวนมากจึงเป็นเรื่องยากในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ในอินเทอร์เน็ตมีโปรแกรมเฉพาะที่อำนวยความสะดวกช่วยบริการค้นหาข้อมูลมหาศาลได้ เช่น Archive, Gopher, Hytelnet, WAIS, และ World Wide Web เป็นต้น

กลยุทธ์และเทคนิคสืบค้นสารสนเทศ

กลยุทธ์และเทคนิคสืบค้นสารสนเทศ เป็น วิธีการต่างๆ ที่ใช้ประกอบในการสร้างประโยคการค้น เพื่อให้ได้รับสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งโดยปกติสามารถแบ่งเทคนิคการสืบค้นได้เป็น 2 ประเภทคือ เทคนิคการสืบค้นแบบง่าย และเทคนิคการสืบค้นขั้นสูง

3.1 เทคนิคการสืบค้นแบบง่าย (Simple Search)
เทคนิคการสืบค้นสารสนเทศโดยใช้คำโดด หรือ คำผสมเพียง 1 คำในการสืบค้นข้อมูลโดยไม่ต้องสร้างประโยคคำค้นที่ยุ่งยาก ซับซ้อน กระบวนการค้นหาสารสนเทศเริ่มต้นจากผู้ค้นมีความต้องการ สารสนเทศเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ผู้ค้นจะต้องมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการสืบค้น หลักการค้นจะเริ่มต้นจากข้อมูลที่ผู้สืบค้นมีอยู่ ซึ่งทางเลือกในการสืบค้นที่สำคัญๆและควรรู้จักมีดังนี้
3.1.1 ชื่อผู้แต่ง (Author) หมายถึงชื่อของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือหน่วยงาน/องค์กร ที่แต่งหรือเขียนหนังสือ บทความ หรือทรัพยากรสารสนเทศนั้น ๆ ซึ่งมีหลักการค้น ดังนี้
• ผู้แต่งคนไทย ค้นที่ชื่อของบุคคลนั้นๆ หากเป็นบุคคลที่มีบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์ให้ค้นจากชื่อที่ต่อท้ายนามบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์ ส่วนการค้นชื่อที่เป็นสมณศักดิ์ ให้ค้นตามสมณศักดิ์ นั้นๆ เช่น
ม.ร.ว. คีกฤทธิ์ ปราโมช ค้นที่ คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.
ร.ต.อ.ปุรชัย เปื่ยมสมบูรณ์ ค้นที่ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์
พระธรรมปิฎก ค้นที่ พระธรรมปิฎก


• ผู้แต่งที่เป็นชาวต่างประเทศ ให้ค้นที่ชื่อสกุล เช่น
เจ.เค.โรวลิ่ง ค้นที่ โรวลิ่ง, เจ.เค.
Hillary Clinto ค้นที่ Clinton, H.

• ผู้แต่งที่เป็นหน่วยงาน/องค์กร ค้นที่ชื่อหน่วยงานนั้น กรณีที่ค้นมีทั้งหน่วยงานใหญ่และหน่วยงานย่อย ให้ค้นที่ชื่อหน่วยงานใหญ่ก่อน กรณีที่เป็นชื่อย่อ ให้ค้นที่ชื่อเต็ม เช่น
ศอ.รส. ค้นที่ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
สพฐ. ค้นที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน


3.1.2 ชื่อเรื่อง (Title)หมายถึง ชื่อหนังสือ หรือชื่อบทความ หรือชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการค้น มีหลักการค้นดังนี้


• ชื่อเรื่องภาษาไทย ค้นตรงชื่อเรื่องนั้นๆ โดยดูที่อักษรตัวแรกและตัวถัดไปตามลำดับ เช่น เปิดโลกอินเตอร์เน็ต ค้นที่ เปิดโลกอินเตอร์เน็ต
• ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ ใช้หลักการเดียวกันกับภาษาไทย เช่น
Olympic 2010 ค้นที่ Olympic 2010
The Lord of the rings ค้นที่ The Lord of the rings


3.1.3 หัวเรื่อง (Subject headings) หมายถึง คำหรือวลีที่กำหนดขึ้นแทนเนื้อหาของหนังสือหรือบทความ หรือทรัพยากรสารสนเทศนั้น ๆ โดยปกติวลีที่กำหนดเป็นหัวเรื่องนี้ จะนำมาจากคู่มือหัวเรื่องที่ใช้กันเป็นมาตรฐานในห้องสมุดต่างๆในประเทศไทยหรือทั่วโลก ซึ่งหลักการค้นหัวเรื่องมีดังนี้


• ค้นที่คำหรือวลีที่เป็นชื่อบุคคล ชื่อหรือประเภทของหน่วยงาน สัตว์ พืช สิ่งของ สาขาวิชา/ เรื่องย่อยๆในสาขาวิชา สถานที่ โรค ฯลฯ คำหรือวลีดังกล่าว อาจมีการแบ่งย่อยลงสู่เรื่องเฉพาะมากขึ้น เช่นแบ่งย่อยตามสถานที่(ประเทศ ,รัฐ,เมือง ฯลฯ) หรือวิธีการเขียน (เช่น ประวัติ พจนานุกรมรวมเรื่อง ฯลฯ) หรือลำดับเหตุการณ์ (เช่น ยุคสมัย ปี พ.ศ.หรือ ค.ศ.) โดยคั่นด้วยเครื่องหมาย - (hyphen) หรือ , (comma) เช่น
ต้องการค้นเรื่อง คำราชาศัพท์ทางคอมพิวเตอร์  ค้นที่ คอมพิวเตอร์ - พจนานุกรม
ต้องการค้นเรื่องเกี่ยวกับ ประวัติเมืองขอนแก่น    ค้นที่ ขอนแก่น, จังหวัด – ประวัติ

• คำหรือคำสำคัญ (Words หรือ Keywords) หมายถึง คำใดๆ ที่มีความหมายแทนเรื่องที่ต้องการค้น โดยปกติคำสำคัญทีสามารถค้นได้จากเครื่องมือสืบค้น จะเป็นคำที่นำมาจากคำที่ปรากฏในชื่อเรื่องและหัวเรื่อง แต่เครื่องมือสืบค้นบางชนิดอาจจะนำคำค้นมาจากที่ประกฎในบทคัดย่อ (Abstracts) หรือตัวเนื้อหา (Texts) ของหนังสือ หรือบทความหรือทรัพยากรสารสนเทศนั้นๆ การสับค้นจากคำสำคัญเป็นวิธีที่ง่าย เนื่องจากผู้ค้นจะค้นคำใดๆ ก็ได้ที่คิดว่าตรงกับเรื่องที่ต้องการค้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักการค้นเหมือนการค้นจารหัวเรื่อง แต่อาจมีข้อเสียคือบางครั้งเรื่องที่ค้นได้อาจไม่ตรงกับความต้องการ เพราะคำต่างๆ ที่ใช้ค้นนั้นอาจเป็นเพียงคำที่ปรากฏในชื่อเรื่องหรือส่วนอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยที่มิใช่เนื้อหาของเรื่องโดยตรง คำสำคัญที่นำมาเป็นคำค้นจะไม่รวมคำนำหน้านาม (a,an,the) และคำเชื่อม (with , that, or, not, etc.)
• เครื่องมือสืบค้นที่สามารถค้นโดยใช้คำสำคัญมักเป็น เครื่องมือที่จัดเก็บในรูปของฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ผู้ค้นเพียงแต่พิมพ์คำว่าที่ต้องการค้น ระบบคอมพิวเตอร์จะค้นหาคำที่ปรากฏในรูปฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์และแสดงผลข้อมูลที่ค้นพบให้ทันที


3.2 เทคนิคการสืบค้นขั้นสูง (Advanced Search)เป็นการสร้างประโยคคำค้นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ทำให้เราได้ข้อมูลที่รงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งเทคนิคการสืบค้นขึ้นสูงนี้ มีหลายชนิด ได้แก่


3.2.1 การสืบค้นโดยใช้เทคนิคตรรกบูลีน (Boolean Logic) เป็นเทคนิคในการสืบค้นสำหรับการปรับแต่งการสืบค้น โดยอาศัยตัวกระทำ 3 ตัว คือ and , or , not ดังนี้


 AND ใช้เชื่อมคำค้นเพื่อจำกัดขอบเขตการค้นให้แคบลง โดยการใช้ AND จะใช้ในกรณีที่ต้องการให้ปรากฏคำหลัก A และ B ในหน้าเว็บเพจเดียวกัน หมายถึง การค้นหาคำหลักที่มีทั้ง A และ B
ตัวอย่าง: พิมพ์ ไทย and จีน ลงในช่องข้อความแบบมีเงื่อนไข จะหมายถึง ค้นหาคำว่า ไทย และ จีน โดยผลลัพธ์จากการค้นหา จะปรากฏคำว่า "ไทย" และ "จีน" อยู่ในหน้าเว็บเพจเดียวกัน

 OR ใช้เชื่อมคำค้นเพื่อขยายของเขตการค้นให้กว้างขึ้น โดยการใช้ OR จะใช้ในกรณีที่ต่อเมื่อ ต้องการค้นหาคำหลัก A หรือ B โดยผลลัพธ์จากการค้นหาจะต้องปรากฏคำหลัก A หรือ B อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ทั้งสองคำ
ตัวอย่าง: พิมพ์ กีฬา or ดนตรี ลงในช่องข้อความแบบมีเงื่อนไข Super Search จะค้นหาข้อมูลที่ปรากฏคำว่า "กีฬา" หรือ "ดนตรี" ในหน้าเว็บเพจ
 NOT ใช้เชื่อมคำค้นเพื่อจำกัดขอบเขตการค้นให้แคบลง โดยใช้ NOT ในกรณีที่ก็ต่อเมื่อ ต้องการค้นหา A แต่ไม่ต้องการให้ปรากฏ B อยู่ในหน้าเว็บเพจ
ตัวอย่าง: พิมพ์ กีฬา not ฟุตบอล จะหมายถึง การค้นหาเว็บเพจที่ปรากฏคำว่า "กีฬา" แต่ต้องไม่ปรากฏคำว่า "ฟุตบอล"


3.2.2 เทคนิคการตัดคำ (Truncation) เป็นเทคนิคที่ช่วยในการสืบค้นให้ได้ข้อมูลที่กว้างขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น โดยการละข้อความบางส่วนของคำ และใช้สัญลักษณ์แทนอาจเป็นสัญลักษณ์ # หรือ ? หรือ $ หรือ *
การใช้เทคนิคการตัดคำนี้เนื่องจากการเขียนคำศัพท์ที่แตกต่างกัน เช่น รูปเอกพจน์ รูปพหูพจน์ หรือรูปแบบการเขียนแบบภาษาอังกฤษ หรืออเมริกัน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถตัดคำได้ทั้งการตัดท้ายคำ หรือตัดหน้าคำก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อพิมพ์คำค้นว่า Colo# ระบบจะทำการสืบค้นให้ทั้งคำที่เขียนว่า color และ colour หรือพิมพ์คำว่า Librar# ระบบจะทำการสืบค้นให้ทั้งคำว่า Library , Libraries และ Librarian เป็นต้น


วิธีการสืบค้นข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสืบค้น
ความต้องการใช้สารนิเทศนั้น นักเรียน นักศึกษาอาจต้องการสารนิเทศ เพื่อประกอบการเรียนการทำรายงาน การเขียนบทความ การทำวิจัยเพื่อการศึกษา ส่วนประชาชนทั่วไปอาจต้องการข้อมูล เพื่อการดำรงชีพ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน และประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันข้อมูลในทางอินเทอร์เน็ตมีปริมาณมากขึ้น ผู้ที่ต้องการสารนิเทศควรมีทักษะในการใช้โปรแกรมสืบค้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ซึ่งมีวิธีการดังนี้


1. เลือกใช้โปรแกรมสืบค้นสารนิเทศ ให้เหมาะสมกับความต้องการ เพราะโปรแกรมจะมีลักษณะเฉพาะตัว เฉพาะสาขา การอ่านระบบช่วยเหลือของโปรแกรมสืบค้น จะมีคำแนะนำในการค้นหา และทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ก่อนการใช้งาน
2. ระบุความต้องการให้ชัดเจน ว่าเราต้องการค้นคว้าข้อมูลเรื่องใด และกำหนดขอบเขตของเรื่อง
3. กำหนดคำถาม ( Query) ของเรื่องที่ต้องการค้น โดยใช้คำค้นที่เป็นคำสำคัญที่เฉพาะเจาะจง และเป็นคำมาตรฐาน ตรงตามความต้องการ ไม่ควรใช้คำค้นที่กว้างมาก หรือเป็นคำที่กำกวม เพราะจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มากเกินไป และไม่ตรงตามความต้องการ
4. ใช้เครื่องหมายต่างๆ และตรรกบูลีน เพื่อกำหนดขอบเขตของคำที่ใช้ค้นให้เฉพาะเจาะจง
5. ใช้การค้นคำหลายคำ หรือคำที่มีความหมายเหมือนกัน เป็นคำสำคัญในการสืบค้น เช่นคำที่สะกดได้ทั้งแบบอังกฤษ และอเมริกา หรือคำเอกพจน์ และพหูพจน์ หรือคำที่สามารถสะกดได้หลายรูปแบบ แต่หมายถึงสิ่งเดียวกัน เพราะจะทำให้ผลของการสืบค้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. ตรวจสอบการใช้คำค้นให้ถูกต้อง เช่น การสะกดคำ
7. ใช้โปรแกรมสืบค้นมากกว่า 1 ตัว เนื่องจากโปรแกรมสืบค้นแต่ละตัวครอบคลุมฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีการทำดรรชนีที่แตกต่างกันด้วย


เทคนิคการจำกัดคำค้น (Limit search) เทคนิคการจำกัดการค้นให้แคบลงโดยกำหนดเขตข้อมูลที่ต้องการสืบค้นร่วมกับคำค้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและความสามารถของระบบที่สืบค้นเช่น การกำหนดให้ระบุปีพิมพ์ของข้อมูลที่ต้องการค้น หรือการกำหนดภาษาของเอกสาร เช่น internet and la = English หมายความว่า ให้ค้นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต และตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นหรือ internet and py >= 1999 หมายความว่า ให้ค้นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต และตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา เป็นต้น